Categories
Sport

ย้อนรอยลิขสิทธิ์บอลไทย จากติดลบสู่พันล้าน และจากพันล้านสู่ศูนย์บาท  

ลิขสิทธิ์บอลไทย ก่อนจะมีมูลค่าสูงส่งและกลับคืนสู่สามัญ

ถือเป็นกระแสที่ร้อนระอุและน่าตกใจในเวลาเดียวกัน สำหรับลิขสิทธิ์ถ่ายสดฟุตบอลไทยที่เคยสูงถึงพันล้านบาท แต่การบริหารของสมาคมฟุตบอลชุดนี้ มีแต่สาละวันเตี้ยลง กระทั่งมีการเรียกสโมสรสมาชิกไทยลีก 1 มาประชุมกันและแจ้งว่ามีผู้ประมูลเพียง 1 เจ้า โดยให้ราคาเพียง 50 ล้านบาทเท่านั้น ซึ่งนับจากนี้ต้องไปตามกันต่อว่าจะมีการแยกตัวออกมาตั้งบริษัทและบริหารกันเองหรือไม่ รวมถึงข่าวที่บอกว่าจริงๆแล้วมีการยื่นมา 300 ล้านบวกๆ แต่ที่เสนอไป 50 ล้านบาท ก็เพราะเกมการเมืองนั่นเอง กระนั้นในบทความนี้จะพาไปดูถึงวิวัฒนาการของ ลิขสิทธิ์บอลไทย ที่หลายคนยังไม่รู้ว่าเคยติดลบ ก่อนจะมีมูลค่าสูงส่งและกลับคืนสู่สามัญเฉกเช่นวันนี้

ปี 2539 – 2545 เป็นยุคเริ่มแรกของฟุตบอลไทยลีก ซึ่งตอนนั้นไม่มีมูลค่าทางการตลาด นั่นจึงทำให้สมาคมฟุตบอล ต้องออกเงินเพื่อซื้อเวลาของสถานีโทรทัศน์ในช่วง 4 โมงเย็น – 6 โมงเย็น สำหรับการถ่ายทอดสด กระทั่งปี 2545 ทรูวิชั่น อาสาเข้ามาช่วยถ่ายทอดสดแบบฟรีๆ เพื่อเป็นหนึ่งในคอนเทนต์ของช่องทางดาวเทียม และหลังจากนั้นก็มีช่อง 11 เข้ามาช่วยถ่ายในบางคู่

กระแสบอลไทยเริ่มเฟื่องฟูอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน เพราะไม่ว่าจะทีมใหญ่หรือทีมตามต่างจังหวัด แฟนบอลต่างเข้ามาชมเกมจนเต็มความจุของสนาม ทำให้การขายลิขสิทธิ์ฟุตบอลไทยลีก เกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 2552 โดยสยามกีฬาจ่ายเงินให้สมาคมฟุตบอลเป็นมูลค่ากว่า 40 ล้านบาท / ปี กระทั่งปี 2554 ฟุตบอลไทยเติบโตต่อเนื่องแบบฉุดไม่อยู่ นั่นจึงทำให้ทรูวิชั่น เข้ามาประมูลและคว้าลิขสิทธิ์ด้วยวงเงินถึง 200 ล้านบาท / ปี ซึ่งมากกว่าเดิมถึง 5 เท่า

ลิขสิทธิ์บอลไทย ย้อนรอยจากติดลบสู่พันล้าน และกลับคืนสู่สามัญ
ลิขสิทธิ์บอลไทย ย้อนรอยจากติดลบสู่พันล้าน และกลับคืนสู่สามัญ

ปี 2557 ทรูวิชั่นที่เสียลิขสิทธิ์ฟุตบอลพรีเมียร์ลีก อังกฤษ ไปให้กับ CTH จำเป็นต้องเดินหน้าเต็มกำลังเพื่อคว้าลิขสิทธิ์ฟุตบอลไทยลีกให้อยู่มือ นั่นจึงทำให้บริษัทยื่นซองประมูลให้กับสมาคมฟุตบอล เป็นมูลค่ากว่า 600 ล้านบาท / ปี ซึ่งเพิ่มขึ้นจากเดิม 3 เท่า จากนั้น 3 ปีให้หลัง ก็ยังคงเป็น ทรูวิชั่น ที่คว้าลิขสิทธิ์ไปด้วยราคา 1,050 ล้าน / ปี ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่สูงมากๆ

ปี 2564 ทั่วโลกเผชิญต่อวิกฤตโควิด-19 ทำให้ฟุตบอลต้องเลื่อนเตะ แฟนบอลเข้าไปชมในสนามไม่ได้ นั่นจึงทำให้ ทรูวิชั่น ขอลดมูลค่าที่จะประมูล ตรงข้ามกับ เซนส์ที่กล้าทุ่ม 1200 ล้านบาท / ปี และนั่นทำให้สมาคมฟุตบอลเลือกผู้ถือลิขสิทธิ์เจ้านี้ แต่เมื่อผ่านไปสักพักก็ขอถอนตัว เพราะรู้ชะตากรรมว่าจะต้องขาดทุน สุดท้าย AIS ได้ส้มหล่นในมูลค่า 300 ล้านบาท / ปี เท่านั้น

จากที่ไล่เรียงมาทั้งหมดนี้ จะเห็นได้ว่าสมาคมฟุตบอลชุดก่อนๆต้องใช้เวลาอยู่นาน กว่าจะขายลิขสิทธิ์จนเกิดมูลค่าขึ้นมา ขณะที่ตัวแปรอย่างทรูวิชั่น ถือเป็นการสำคัญที่ทำให้ลิขสิทธิ์ฟุตบอลไทย มีมูลค่าสูงขึ้นแบบก้าวกระโดดทุกครั้งเมื่อมียื่นซองประมูล แต่การฉีกซองและหันเหไปเลือกบริษัทน้อยใหม่อย่างเซนส์ ถือเป็นจุดหักเหที่ทำให้ลิขสิทธิ์ฟุตบอลไทย มีมูลค่าต่ำลงแบบน่าใจหาย และที่น่าใจหายกว่า คือมูลค่าในตอนนี้มันเทียบเท่ากับช่วงที่ฟุตบอลไทยขายลิขสิทธิ์ครั้งแรก  

ลิขสิทธิ์บอลไทย ย้อนรอยจากติดลบสู่พันล้าน และกลับคืนสู่สามัญ
ลิขสิทธิ์บอลไทยย้อนรอยจากติดลบสู่พันล้าน และกลับคืนสู่สามัญ

ติดตาม ข่าวSport ในทุกสัปดาห์ได้ที่ tarutaofc.com

FB : Sport lover